วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การถ่ายภาพประเพณีและศิลปวัฒนธรรมไทย ตอนที่ 1

การถ่ายภาพประเพณีและศิลปวัฒนธรรมไทย

       พจนานุกราไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ บัญญัติความหมายของ “ประเพณี” ไว้ว่า “สิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบๆ กันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณี” และพจนานุกรมฉบับเดียวกันยังได้สำแดงความหมายของ “วัฒนธรรม” ไว้ด้วยเช่นกันว่า “สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา

       นอกจากนี้สารานุกรมเสรีอย่างวิกีพีเดียยังได้ให้นิยามของคำว่าวัฒนธรรมในมุมมองที่แต่งต่างออกไป ทว่ากลับช่วยเสริมขยายความเข้าใจในเชิงบริบทของคำดังกล่าวได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น ดังนี้ “วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึงรูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นประพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกตน”



       ดังนั้นหากนิยามความในแง่ของ “การถ่ายภาพประเพณีและศิลปวัฒนธรรมไทย” จึงอาจหมายเอาได้ว่า “การบันทึกเรื่องราวอันเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณีอันดีงามของไทย ทั้งยังหมายรวมถึงภาพถ่ายที่สะท้อนความเจริญงอกงามของหมู่คณะหรือสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมโดยผ่านวิถีซึ่งสืบทอดติดต่อกันมา รูปแบบของวัฒนธรรมไทยสามารถแสดงออกได้หลากหลายวิธี ทั้งการสืบผ่านในเชิงชั้นทางวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม การดนตรี การละคร และภาพยนตร์ เป็นต้น”

       เป็นเรื่องที่เข้าใจโดยถ้วนทั่วว่าประเพณีและวัฒนธรรมไทยส่วนใหญ่ล้วนผูกติดอยู่กับศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในชาติอย่างแนบแน่น งานประเพณีและงานสืบสารวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจวบกระทั้งปัจจุบันจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบของพิธีกรรมทางศาสนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเข้ามามีบทบาทอยู่เสมอ นั่นจึงทำให้วัฒนธรรมและประเพณีไทยในสายตาชาวต่างชาติมีความเป็นเอกลักษณ์ สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คนในสังคม


       การบันทึกภาพแนวประเพณีและศิลปะวัฒนธรรมไทยจึงหาใช่เป็นเพียงแค่การบันทึกเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเท่านั้น แม้ผู้บันทึกจะเป็นเพียงนักถ่ายภาพระดับสมัครเล่นหรือนักท่องเที่ยวทั่วไปก็ตาม เพราะหากมองไกลทอดสายตายาวไปสู่อนาคต ภาพๆ หนึ่งที่บางคนเคยคิดว่าเป็นเพียงแค่ภาพธรรมดาอาจกลายมาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สามารถหยิบยกขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์ วิธีชีวิต ตลอดจนกระทั่งวัฒนธรรมตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงความเป็นชนชาติ ดังที่ภาพถ่ายธรรมดาๆ จำนวนมากในอดีตได้เปลี่ยนสถานะกลับมาแสดงบทบาทให้เป็นที่ประจักษ์อยู่ตามหอประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทั้งในและนอกประเทศ



นอกจากความสวยงาม.. ภาพถ่ายแนวประเพณีและศิลปวัฒนธรรมไทยที่ดีควรตอบโจทย์เรื่องอะไรต่อผู้ชม?

       คำตอบง่ายๆ คล้ายกับการถ่ายภาพเชิงวิถีอื่นๆ คือ ภาพนั้นต้องแสดงให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร

       แม้จะสามารถท่องจำให้ขึ้นใจได้ไม่ยาก ทว่าคำถาม ๕ ข้อนี้กลับเป็นโจทย์ที่ไม่ใช้ว่าใครจะตอบอกกมาได้ง่ายๆ เนื่องเพราะวิถีของกิจกรรมแนวประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ นั้นจำเป็นต้องเคลื่อนไหลไปตามกำหนดการอยู่ตลอดเวลาจวบกระทั่งสิ้นสุดพิธีกรรม ดังนั้นจังหวะที่จะแง้มอ้าเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมเป็นช่างภาพได้ครุ่นคิดและเพ่งหามุมภาพดีๆ ที่สามารถตอบคำถามได้ครบทั้ง ๕ ข้อจึงเป็นเรื่องยาก

credits : ร้าน กระเป๋ากล้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น