วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การถ่ายภาพ CONCERT ตอนที่ 6

ระบบวัดแสง

       ระบบวัดแสงเฉพาะจุดดูจะเหมาะสมกับการถ่ายภาพคอนเสิร์ตมากที่สุด ด้วยสภาพแสงที่เน้นตัวศิลปินเป็นหลัก จนบางครั้งฉากหลังหรือพื้นที่ส่วนอื่นถูกปล่อยให้อยู่ในความมืด ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยจะให้ค่าที่โอเวอร์และหลอกให้เราใช้ความเร็วชัดเตอร์ต่ำกว่าที่ควร นอกจากทำให้ภาพได้รับแสงมากเกินแล้วยังทำให้เราเสี่ยงต่อการได้ภาพที่ไม่คมชัดด้วย แนะนำให้ใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุดเน้นค่าแสงไปที่ตัวศิลปินด้วยการซูมภาพให้ใกล้เข้ามาแล้วเล็งตำแหน่งไปที่ใบหน้า จะไม่วัดแสงอยู่ตลอดเวลา แต่จะวัดค่าแสงหลักและปรับตั้งกล้องไปตามช่วงจังหวะของแสง อย่างเช่น ในช่วงที่มีการเปิดไฟฟอลโลว์ที่ตัวศิลปิน ควรวัดแสงแล้วใช้ค่านี้ไปตลอดขณะถ่ายจะคอยสังเกตไปด้วยเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการให้แสงอย่างเช่น ช่วงไฮไลท์ของเพลงหรือช่วงที่เป็นเพลงจังหวะสนุกที่มักเปิดแสงสีมากเป็นพิเศษ ควรจะวัดแสงใหม่และใช้ค่านี้ไปจนจบช่วง วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องคอยพะวงกับการวัดแสงอยู่ตลอดและมีเวลามากพอที่จะให้ความสำคัญกับการโฟกัสภาพและจัดองค์ประกอบ



       ถ้ากล้องที่คุณใช้ไม่มีระบบวัดแสงแบบจุดก็ไม่ต้องคิดมาก ใช้แบบเฉลี่ยที่เน้นบริเวณจุดโฟกัสแล้วลองถ่ายทดสอบดูในช่วงแรก ตรวจสอบภาพที่ได้บนจอ LCD และปรับแก้ให้ได้ค่าที่เหมาะสมที่สุด แล้วใช้ค่านั้นเป็นหลัก คอยสังเกตและปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแสงแต่ละช่วง แต่ไม่ต้องถึงกับต้องวัดแสงตลอดทุกภาพ แบ่งเวลาไปเหนื่อยกับการโฟกัสภาพและหามุมงามๆ ดีกว่า

หน้าเวทีใช้ว่าจะดีเสมอไป

      ทำเลทองที่ช่างภาพคอนเสิร์ตส่วนใหญ่แย่งกันจับจองมักจะเป็นด้านหน้าเวที มันช่วยให้ช่างภาพที่ขี้เกียจเดินไปมาสามารถเก็บภาพได้อย่างไม่ต้องเหนื่อย ไม่ว่าตัวศิลปินจะอยู่ตำแหน่งไหน หากคุณอยู่บริเวณด้านหน้าของเวทีก็สามารถเก็บภาพได้ด้วยการหันกล้องตาม แต่มีดีก็ต้องมีเสีย ปัญหาของมุมหน้าเวทีที่ต้องพบอยู่เสมอนั้นคือมือที่ถือไมค์ของนักร้องมักจะบังหน้าตัวเอง รวมไปถึงเงาที่พาดตกบริเวณปาก คาง และคอ มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทางเดียวที่ทำได้คือต้องรอจังหวะที่นักร้องเอียงหน้าหรือหันข้าง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น