วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การถ่ายภาพ CONCERT ตอนที่ 4

รูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และ ISO

       สำหรับผมผมแนะนำให้ใช้เลนส์สว่างแต่ไม่แนะนำให้ใช้รูรับแสงกว้างสุด ส่วนใหญ่เมื่อได้ฟังก็มักจะมีคำถามย้อนกลับมาว่าแล้วจะเสียเงินซื้อเลนส์แพงๆ ทำไมถ้าไม่ต้องการใช้รูรับแสงกว้างสุด ขออธิบายอย่างนี้แล้วกันนะครับ เลนส์ที่มีขนาดรูรับแสงกว้างตั้งแต่ F2.8 ขึ้นไปจะให้ภาพที่ใสสว่าง ช่วยให้เซ็นเซอร์โฟกัสทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วแม่นยำไม่มีอาการลังเล ส่วนใหญ่มีมอเตอร์ขับเคลื่อนชิ้นเลนส์สำหรับโฟกัสภาพอยู่ในตัว มันจึงได้เปรียบในเรื่องของการโฟกัสภาพ แต่ที่ไม่แนะนำให้ใช้ขนาดรูรับแสงกว้างสุดก็เนื่องจากโอกาสที่ภาพจะหลุดโฟกัสมีสูงมาก ยิ่งถ้าเป็นการถ่ายภาพแบบเน้นเฉพาะที่ตัวศิลปินด้วยช่วงเลนส์เทเลก็ยิ่งมีโอกาศพลาดสูง ถ้าเป็นการจัดถ่ายที่ตัวแบบโพสท่านิ่ง การจะใช้ขนาดรูรับแสงที่ F1.8 หรือ F2.8 ก็ไม่น่ามีปัญหา



       ถ้าคุณเลือกใช้ขนาดรูรับแสงที่แคบลงมาอย่าง F5.6 ช่วงระยะชัดในภาพจะมีมากขึ้น แต่ต้องแลกมาด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำลง หรือค่า ISO สูงขึ้น สำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ที่ให้แสงสีเต็มพิกัด ที่รูรับแสง F5.6 ก็ยังพอจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ขนาด 1/125 หรือ 1/250 วินาทีที่ ISO 800-1600 ได้ ถ้าเป็นพวกมินิคอนเสิร์ตที่ประหยัดแสงสีขนาดรูรับแสง F5.6 ดูจะแคบเกินไปเพราะความเร็วชัตเตอร์อาจเหลือต่ำเพียง 1/30 หรือ 1/60 วินาที ซึ่งเสี่ยงต่อการให้ภาพเบลอ แต่ถ้าหากคุณใช้กล้องระดับโปรที่สามารถถ่ายด้วยค่า ISO 3200 แล้วยังให้คุณภาพไฟล์ที่ดีก็ไม่ต้องคิดมากครับ

       ระหว่างการแสดงควรหมั่นสังเกตุรูปแบบการให้แสงในแต่ละช่วงด้วย ซึ่งโดยมากจะอิงกับจังหวะอารมณ์ของเพลง เพลงเศร้าเพลงช้าส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟอลโลว์ที่ตัวศิลปินเป็นหลักเสริมด้วยแสงสีสลับไปมาอย่างช้าๆ การโฟกัสภาพและการวัดแสงจะทำได้ง่าย รวมไปถึงมีเวลาจัดองค์ประกอบได้อย่างไม่รีบร้อน แสงสีจะถูกปล่อยอย่างเต็มที่ในช่วงพีคสุดของอารมณ์ ถ้าคุณรู้จักเนื้อเพลงและร้องตามได้ คุณก็พอจะเดาออกว่าเป็นช่วงไหน จังหวะนี้ควรเก็บเกี่ยวภาพให้ได้มากที่สุดเพราะเป็นโอกาศที่เราจะเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้สูงขึ้น หรือจะเลือกใช้ความไวแสงให้ต่ำลงเพื่อให้ได้คุณภาพไฟล์ที่ดี และที่สำคัญมันเป็นช่วงที่มีสีสันสวยงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น